วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร และการใช้หลักสูตรสถานศึกษา

ปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของไทยยังไม่พัฒนาไปถึงไหน ปัญหาที่พบ คือ คณะกรรมการสถานศึกษาและคณะผู้จัดทำหลักสูตรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาไม่ชัดเจน เมื่อมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาก็ดำเนินการอย่างเร่งรีบในระยะเวลาอันสั้น ทำให้คณะครูในโรงเรียนขาดความเชื่อมั่นในความถูกต้อง เหมาะสม ของหลักสูตรตนเอง และยังพบว่าโรงเรียนจัดเวลาเรียนให้กับสาระเพิ่มเติมต่าง ๆ น้อย   ทำให้ไม่สามารถสนองความต้องการ ความสามารถและความสนใจของผู้เรียนได้   ครูบางส่วนของแต่ละสถานศึกษาขาดความสนใจ และไม่ให้ความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเท่าที่ควร  ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและได้หลักสูตรสถานศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ สถานศึกษาจำนวนน้อยที่ดำเนินการตามขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาอย่างถูกต้อง   และโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดการสำรวจความต้องการของชุมชน    หรือเชิญคณะกรรมการสถานศึกษามาเข้าร่วมในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา, 2545หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 7, 2545: 9-10) 
จากประเด็นปัญหาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคของการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 2 ประเด็นสำคัญ คือการขาดความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานสร้างหลักสูตรสถานศึกษาของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา  และการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งปัญหาทั้งสองประการส่งผลต่อคุณภาพของหลักสูตรสถานศึกษาที่สร้างขึ้น นอกจากนี้ พบว่า ครูมีความเคยชินกับการรับหลักสูตรที่สำเร็จแล้วไปใช้ในการสอนมากกว่าการพัฒนาหลักสูตรด้วยตนเอง ดังนั้นความตั้งใจ หรือแรงจูงใจในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองจึงมีน้อย ขาดความร่วมมือที่จะมาทำงานร่วมกัน จะมีครูจำนวนน้อยที่ทุ่มเทให้กับงานพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เนื่องจากตนเองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง เช่น เป็นฝ่ายวิชาการของโรงเรียน เป็นหัวหน้าหมวด หัวหน้าสาย หรือเป็นบุคคลที่มีคำสั่งให้ทำหลักสูตรสถานศึกษา
            ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ต่างประเทศประสบปัญหามาก่อนแล้ว เช่น ในประเทศออสเตรเลีย พบว่า   ครูจำนวนมากขาดความสนใจและไม่เข้าร่วมในกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา รวมทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจำนวนมากขาดทักษะในการทำงานกลุ่มและการตัดสินใจร่วมกันในการปฏิบัติงานพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  ซึ่งในประเทศแคนาดาก็พบปัญหาการขาดทักษะของครูทางด้านประสบการณ์ และแรงจูงใจในการพัฒนาหลักสูตร เนื่องมาจากถูกควบคุมในการพัฒนาหลักสูตรโดยกลุ่มผู้มีความรู้และมีอำนาจเพียงไม่กี่คน และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในอังกฤษและเวลล์ ก็พบเช่นกันว่า บุคลากรในสถานศึกษาขาดทักษะการจัดการ ขาดทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ ขาดทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงาน  ขาดการวางแผนด้านเวลาในการทำงาน    ขาดทักษะในการสื่อสาร   การให้คำปรึกษา    การสนับสนุน การทบทวน การกำกับติดตามและการให้ผลย้อนกลับ รวมทั้งครูแต่ละคนมีข้อจำกัดด้านความสามารถในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (Marsh et al., 1990: 7-20)
นอกจากนี้จากการศึกษาการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในประเทศฮ่องกง  ของ  Chan Chi Chiu (1996)  พบว่า   มีครูเพียงร้อยละ 50  เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และมีครูเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น   ที่อยู่ร่วมในการพัฒนาหลักสูตรโดยตลอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากครูขาดความรู้ในการพัฒนาหลักสูตร  เนื่องจากมีครูจำนวนน้อยที่รับการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา   รวมทั้งการขาดการเตรียมความพร้อมให้ครูในด้านการทำงานร่วมกัน ซึ่ง Skilbeck  (1984:  16-19)   และ Marsh et al. (1990:  58-66)    

สรุปปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในต่างประเทศ  ไว้ดังนี้ (ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์, 2545: 28-30)
1.      ครูมีความรู้และความสามารถด้านการพัฒนาหลักสูตรไม่เพียงพอในด้านการวางแผน  ออกแบบ  การนำหลักสูตรไปใช้   และการประเมินผลหลักสูตร ครูขาดความมั่นใจ   และวิตกกังวลในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตร  ดังนั้น จึงควรมีโปรแกรมพัฒนาความรู้และความสามารถของครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาหลักสูตรก่อนพัฒนาหลักสูตร
2.      ครูขาดแรงจูงใจและมีเจตคติทางลบต่อการพัฒนาหลักสูตร  โรงเรียนที่ล้มเหลวเกี่ยวกับโครงการการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เนื่องมาจากการที่ครูมีเจตคติทางลบและเกิดการต่อต้านจากครู ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารที่จะส่งเสริมและสนับสนุนบรรยากาศของโรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้น และมีการพัฒนากลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มีเจตคติ และแรงจูงใจที่ดีต่อการพัฒนาหลักสูตร
3.      โครงสร้างการบริหารงานของโรงเรียนไม่เอื้อต่อการพัฒนาหลักสูตรโดยโครงสร้างของโรงเรียน และการบริหารจัดการเป็นสายงานบังคับบัญชาแบบดั้งเดิม
4.      ขาดการวางแผนด้านเวลา     การที่ไม่มีการวางแผนเรื่องเวลาในการทำงานพัฒนาหลักสูตร ไม่ลดคาบสอน เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน การสะท้อนความคิดและการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเวลานี้เกี่ยวพันไปถึงเจตคติ และระดับแรงจูงใจของครู  ครูและผู้มีส่วนร่วมบางส่วนจึงอาจมีปฏิกิริยาต่อต้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้
5.      ขาดผู้เชี่ยวชาญสนับสนุน  โดยขาดผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้  ความเข้าใจ และทักษะในการให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตร
6.      ขาดงบประมาณสนับสนุน ในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และเงินสนับสนุนช่วยเหลือครูแต่ละวันในการพัฒนาหลักสูตร
7.      บรรยากาศของโรงเรียนที่ไม่ส่งเสริมการทำงาน เนื่องจากขาดผู้นำที่มีประสิทธิภาพและเกิดจากมีผู้ต่อต้านในการพัฒนาหลักสูตร  


ที่มา:    บทความการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา : ฝันที่ยังไปไม่ถึง  โดย ดร.ชัยวัฒน์  สุทธิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น