วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การประเมินหลักสูตร

การประเมินหลักสูตร

ความหมายของการประเมินหลักสูตร

การประเมินหลักสูตรหมายถึง กระบวนการการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพทั้งประสิทธิภาพและประเมินผลของหลักสูตรรวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตรนั้นในอนาคต แนวคิดการประเมินหลักสูตรประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้
  1.  การประเมินเป็นการประเมินค่าของเรื่องที่ตัดสินใจ
  2.  การตัดสินใจมีเกณฑ์ที่ชัดเจน
  3. เกณฑ์การตัดสินใจมีประเด็นที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับเนื้อหา
  4. เกณฑ์แสดงให้เห็นด้วยบุคคลและสอดคล้องกับแนวคิดของแบบจำลองเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร

ทาบา (Taba, 1962 : 310) ได้กล่าวไว้ว่า การประเมินหลักสูตรทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ที่กำหนดไว้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหลักสูตรและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ จุดประสงค์ ขอบเขตของเนื้อหาสาระ คุณภาพของผู้ใช้บริหารและผู้ใช้หลักสูตร สมรรถภาพของผู้เรียน ความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ การใช้สื่อและวัสดุการสอน ฯลฯ

การประเมินหลักสูตร ก่อน ระหว่าง และหลังการนำหลักสูตรไปใช้

ขั้นตอนการประเมินหลักสูตร
จุดมุ่งหมายการประเมิน
การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินเอกสารและคุณค่าของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร
การประเมินการนำไปใช้และผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินระบบหลักสูตร

ขอบเขตในการประเมินหลักสูตร

เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander, 1981 : 265) ได้กล่าวถึงขอบเขตของการประเมินหลักสูตรไว้ดังนี้
  1. การประเมินจุดมุ่งหมายของโรงเรียน จุดมุ่งหมายของหลักสูตร จุดมุ่งหมายเฉพาะวิชาและจุดมุ่งหมายในการสอน
  2. การประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด
  3. การประเมินผลการเลือกเนื้อหาและการจัดประสบการณ์เรียนและกิจกรรม
  4. การประเมินผลการสอบ
  5.  การประเมินผลโครงการประเมินผล

หลักเกณฑ์การประเมินหลักสูตร

  1. มีจุดประสงค์ในการประเมินที่แน่นอน การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปให้แน่นอนชัดเจนว่าประเมินอะไร
  2.  มีการวัดที่เชื่อถือได้ โดยมีเครื่องมือและเกณฑ์การวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับ
  3. ข้อมูลเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผล ดังนั้น ข้อมูลจะต้องได้มาอย่างถูกต้องเชื่อถือได้และมากพอที่จะใช้เป็นตัวประเมินค่าหลักสูตรได้
  4. มีขอบเขตที่แน่นอนชัดเจนว่าเราต้องการประเมินในเรื่องใดแค่ไหน
  5. ประเด็นของเรื่องที่จะประเมินอยู่ในช่วงเวลาของความสนใจ
  6. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดเครื่องมือในการประเมินผล จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
  7. การวิเคราะห์ผลการประเมินต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ และให้มีความเที่ยงตรงในการพิจารณา
  8. การประเมินผลหลักสูตรควรใช้วิธีการหลายๆวิธี
  9. มีเอกภาพในการตัดสินผลการประเมิน
  10. ผลต่างๆที่ได้จากการประเมินควรนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งในด้านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดีและมีคุณค่าสูงสุดตามที่ต้องการ

บทสรุป
            การประเมินผลหลักสูตร  เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง  เพราะจะได้รู้ถึงคุณค่าของหลักสูตร  ตัดสินว่าคุณภาพของหลักสูตรมีคุณภาพดีเพียงใด  ผลิตผลของหลักสูตร คือ ผู้เรียนเมื่อจบออกไปแล้วเป็นอย่างไร  การประเมินผลหลักสูตรนั้น ประเมินตั้งแต่ก่อนนำหลักสูตรไปใช้  ขณะที่ทดลองใช้  และเมื่อประกาศใช้แล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลจะทำให้การประเมินผลหลักสูตร  เป็นระบบ  ระเบียบ และเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์  ประเมินได้ตามจุดที่ต้องการ  และการประเมินผลหลักสูตรควรจะประเมินผลทั้งหมดของหลักสูตร เช่น จุดมุ่งหมาย เนื้อหา  การเรียน  การสอน  สื่อการเรียนการสอน กิจกรรม  การวัดผล  เป็นต้น  การประเมินผลจะส่งผลไปยังผู้มีอำนาจในการตัดสินว่า  หลักสูตรนั้นสมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงเพียงใด  มีปัญหาอะไรบ้างในการใช้หลักสูตรนั้น จะได้ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้หลักสูตรนั้นเป็นหลักสูตรที่ดี และสนองความต้องการต่างๆ ของผู้เรียน  สังคม  เศรษฐกิจ  การปกครอง  จิตวิทยาการเรียนรู้ การประเมินผลหลักสูตรควรจะดำเนินการและกระทำอยู่สม่ำเสมอ  เพื่อการปรับปรุง  พัฒนา  หลักสูตร ให้มีคุณภาพดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น