วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและบริหารจัดการให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่กลมกลืนกับท้องถิ่น และร่วมกับสถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ตามชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร และมีบางส่วนเท่านั้นที่มีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน การรับทราบข้อมูลของชุมชนเป็นการรับทราบข้อมูลหลักสูตร ในลักษณะที่ว่าเป็นหลักสูตรใหม่ สำนวนภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ในหลักสูตรใหม่ไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจในรายละเอียดเชิงลึก เพราะขาดการสร้างความเข้าใจ การเตรียมชุมชนหรือการอบรมให้ความรู้ที่ชัดเจน มากกว่าการประชุมชี้แจงหลังจากที่มีการพัฒนาหลักสูตรโดยโรงเรียน ซึ่งชุมชนไม่มีส่วนร่วมเลย การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ผู้บริหารและครูในโรงเรียนต้องเป็นผู้ประสานงานและทำความเข้าใจให้กับชุมชน เพราะโรงเรียนรู้รายละเอียด แต่ชุมชนไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือมีความรู้ในระดับน้อย หากมีการทำงานร่วมกัน การที่ไม่เข้าใจในงานก็ทำให้ไม่สามารถร่วมงานได้ ขาดการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนหรือเมื่อเข้ามามีส่วนร่วมแล้วไม่สามารถดำเนินการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ความต้องการของชุมชนต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา คือ ความต้องการที่จำเป็นในการมีส่วนร่วม

จากการศึกษาความต้องการในการมีส่วนร่วมพบว่า ความต้องการของโรงเรียนคือ การมีนวัตกรรม หรือสื่อที่เหมาะสมในการประสานและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้ชัดเจนและเป็นระบบแบบที่คาดหวัง หรืออาจเป็นบุคคลมาช่วยประสานงานด้วย ความต้องการให้ชุมชนตระหนักต่อการมีส่วนร่วมมากขึ้นส่วนชุมชนมีความต้องการให้ทางโรงเรียนรับฟังความคิดเห็น และให้เกียรติในความรู้ความสามารถ ที่สำคัญคือ พยายามถามในสิ่งที่ชุมชนพอรู้และถนัด ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเติมเต็มข้อมูลได้อย่างเต็มที่ การให้ความรู้ด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการหรืออบรมที่ชัดเจนที่เน้นให้ความรู้ในเรื่องของคำศัพท์ใหม่ๆของหลักสูตรไม่จำเป็นต้องเป็นรายละเอียดในเชิงลึก แต่ให้รู้ในระดับพื้นฐาน หรือการมีเอกสารหรือคู่มือสั้นๆ อ่านง่าย เพื่อสื่อสารให้รู้เกี่ยวกับหลักสูตรและบทบาทของชุมชน การมีเครือข่ายของชุมชนที่สามารถร่วมงานกันทำงานเป็นทีม และดำเนินการแทนกัน ได้เมื่อคนใดคนหนึ่งติดภารกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ในการกำหนดเวลาของกิจกรรมต้องกำหนดเวลาให้เหมาะสมในการเข้าร่วมโดยมีปฏิทินบอกช่วงวัน เวลา ให้ชัดเจน และสอบถามชุมชนก่อนทุกครั้ง


ที่มา:      ณัฐพงศ์ ฉลาดแย้ม ดร.เพ็ญณี แนรอท (Dr.Pennee Narot) และ ดร.ธีรชัย เนตรถนอมศักดิ์ จาก งานวิจัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำ นักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองบัวลำ ภู เขต 1 (KKU Res J (GS) 11 (2) : April - June 2011)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น