วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

                แม้ว่าการพัฒนาหลักสูตรที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน หรือหลักสูตรสถานศึกษา ตามนัยแห่งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มุ่งหวังจะให้สถานศึกษาดำเนินการจัดทำรายละเอียดของเนื้อหาสาระในหลักสูตรขั้นพื้นฐานเพิ่มเติม แต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ก็ยังเน้นความสำคัญของเนื้อหาสาระ ประเภท สภาพปัญหาในชุมชน สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม ดังนั้นนอกจากภารกิจหลักของสถานศึกษาที่จะจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรขั้นพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบแล้ว สถานศึกษายังต้องพิจารณาและจัดทำสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องและสนองความต้องการของผู้เรียนที่ดำรงชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล ท้องถิ่น หรือชุมชนที่มีความแตกต่างกัน
                เพื่อให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรและจัดทำเนื้อหาสาระของหลักสูตรทั้งสองประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงขอเสนอรายละเอียด มิติ และมุมมองที่มีต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้

การพัฒนาลักสูตรสถานศึกษา

                หลักสูตรสถานศึกษาจะต้องสนองตอบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองตอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผู้สอนต้องปรับปรุงกระบวนการสอนและประเมินกระบวนการสอนของตน ให้สนองตอบความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษาจะเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถ้ามีการปรับปรุงหลักสูตรตลอดเวลา สถานศึกษาจึงควรดำเนินการในการจัดทำหลักสูตร ดังนี้

1.       กำหนดวิสัยทัศน์
สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อมองอนาคตว่า โลกและสังคมรอบ ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถานศึกษาจะต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรอย่างไร จึงจะพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย สถานศึกษาต้องมีวิสัยทัศน์ในการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา หมายความว่า ผู้บริหารและบุคลากรของสถานศึกษาสามารถมองเห็นและคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตที่จะมีผลต่อความต้องการของผู้เรียนและชุมชน  อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร  การศึกษาค้นคว้า  และการติดตามความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษาจะทำให้สถานศึกษาเกิดวิสัยทัศน์ขึ้นได้
            นอกจากนี้การกำหนดวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาจำเป็นจะต้องอาศัยประสบการณ์และความร่วมมือของชุมชน บิดามารดา ผู้ปกครอง ครูผู้สอน ผู้เรียน ภาคธุรกิจ ภาครัฐในชุมชน ร่วมกันกับคณะกรรมการสถานศึกษา ในการแสดงความประสงค์หรือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนาให้สถานศึกษาเป็นสถาบันพัฒนาผู้เรียนที่มีพันธกิจหรือภาระหน้าที่ ร่วมกันในการกำหนดงานหลักที่สำคัญของสถานศึกษา พร้อมด้วยเป้าหมาย มาตรฐาน แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและการติดตามผล ตลอดจนจัดทำรายงานแจ้งสาธารณชน และส่ง ผลย้อนกลับ ให้สถานศึกษาเพื่อปฏิบัติงานที่เหมาะสมและได้มาตรฐานสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติ

2.       การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
จากวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้ที่สถานศึกษาได้กำหนดไว้ สถานศึกษาจะต้องจัดทำสาระการเรียนรู้ จากช่วงชั้นให้เป็นรายปีหรือรายภาค พร้อมกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้ให้ชัดเจน  เพื่อให้ครูทุกคนนำไปออกแบบการเรียนการสอน การบูรณาการโครงการร่วม เวลาเรียน การมอบหมาย/โครงงาน แฟ้มผลงานหรือการบ้าน โดยวางแผนร่วมกันทั้งสถานศึกษา  หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้านของสถานศึกษา

3.       การกำหนดสาระการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค
สถานศึกษาวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นของกลุ่มสาระต่าง ๆ จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้เป็นรายปีหรือรายภาคให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาด้วย พิจารณากำหนดวิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล พร้อมทั้งพิจารณาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และสามารถกำหนดในลักษณะผสมผสานบูรณาการ จัดเป็นชุดการเรียนแบบยึดหัวข้อเรื่อง หรือจัดเป็นโครงงานได้

4.       การออกแบบการเรียนการสอน
จากสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง รายปีหรือรายภาค สถานศึกษาต้องมอบหมายให้ครูผู้สอนทุกคนออกแบบการเรียนการสอน โดยคาดหวังว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้ในแต่ละช่วงชั้น เช่น ช่วงชั้นที่ซึ่งมีชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-นั้น ผู้เรียนจะเรียนรู้สาระของแต่ละเรื่องที่กำหนดได้ในระดับใด ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ที่มีสาระที่ 1 : จำนวนและการดำเนินการ และมีมาตรฐาน ค 1.1 : เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวนและการใช้จำนวนในชีวิตจริง ผู้เรียนในช่วงชั้นนี้จะสามารถทำอะไรได้ เช่น ในช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นไว้ข้อหนึ่งว่า มีความคิดรวบยอดและความรู้สึกเชิงจำนวนเกี่ยวกับจำนวนนับและศูนย์ และผู้เรียนในช่วงชั้นนี้จะมีความสามารถอย่างไร เช่น ผู้เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สามารถนับได้ 1 ถึง 100 และมากกว่า เป็นต้น การออกแบบการเรียนรู้จะต้องให้ผู้เรียนพัฒนาได้ทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์และสังคม

5.       การกำหนดเวลาเรียนและจำนวนหน่วยกิต
การจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี สถานศึกษาต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในด้านการอ่าน การเขียน การคิดเลข การคิดวิเคราะห์ และการใช้คอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการสอนที่ยึดหัวข้อเรื่องจากกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์หรือสังคมศึกษาเป็นหลักตามความเหมาะสมของท้องถิ่น บูรณาการการเรียนรู้ด้วยกลุ่มสาระต่างๆ เข้ากับหัวข้อเรื่องที่เรียนอย่างสมดุล ควรกำหนดจำนวนเวลาเรียนสำหรับสาระการเรียนรู้รายปี ดังนี้
ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ควรกำหนดจำนวนเวลาสำหรับการเรียนตามสาระการเรียนรู้รายปีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการสอนเพื่อเน้นทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน การคิดเลข และการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะช่วงชั้นที่ 1 ซึ่งจะต้องจัดให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกเพลิดเพลิน ในแต่ละคาบเวลาไม่ควรใช้เวลานานเกินช่วงความสนใจของผู้เรียน นอกจากนี้ ผู้สอนอาจจะจัดกิจกรรมเสริม เช่น การฝึกให้เขียนหนังสือเป็นเล่ม เป็นต้น
การเรียนการสอนควรจัดกิจกรรมไปตามความสนใจของผู้เรียน ในช่วงชั้นที่ 1 ผู้สอนควรเข้าใจจิตวิทยาการสอนเด็กเล็กอย่างลึกซึ้ง สามารถบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ผสมกลมกลืน ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเด็กโดยเฉพาะ แต่ต้องมุ่งเน้นทักษะพื้นฐานดังกล่าวด้วย สำหรับช่วงชั้นที่ 2 ผู้เรียนซึ่งได้ผ่านการเรียนการเล่นเป็นกลุ่มมาแล้ว ในช่วงชั้นนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเริ่มทำงานเป็นทีม การสอนตามหัวข้อเรื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญ หัวข้อเรื่องขนาดใหญ่สามารถจัดทำเป็นหัวข้อย่อย ทำให้ผู้เรียนรับผิดชอบไปศึกษาค้นคว้าตามหัวข้อย่อยเหล่านี้ เป็นการสร้างความรู้ของตนเองและใช้กระบวนการวิจัยควบคู่กับการเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 แล้วนำผลงานมาเสนอในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ผลงานของกันและกันในรูปแฟ้มสะสมผลงาน
การเรียนในช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ เป็นการเรียนที่มุ่งพัฒนาความสามารถ ความถนัดและความสนใจของผู้เรียน นอกจากสถานศึกษาจะทบทวนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่กำหนดไว้แล้ว จะต้องจัดการเรียนแบบบูรณาการเป็นโครงงานมากขึ้น เป็นการเริ่มทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจการศึกษาสู่โลกของการทำงานตามความต้องการของท้องถิ่นและสังคมนวัตกรรมด้านการสอนและประสบการณ์ในการทำงานด้านต่าง ๆ แม้แต่การเรียนภาษาก็สามารถเป็นช่องทางสู่โลกของการทำงานได้ ต้องชี้แจงให้ผู้เรียนได้ทราบว่าสังคมในอนาคตจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้ สถานศึกษาจึงต้องจัดบรรยากาศให้มีสภาพแห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เป็นตัวอย่างแก่สังคม และควรจัดรายวิชาหรือโครงงานที่สนองความถนัด ความสนใจของผู้เรียนเพิ่มขึ้นด้วย

การเรียนช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นหรือการประกอบอาชีพ ดังนั้นสถานศึกษาควรจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งส่งเสริมความถนัดและความสนใจของผู้เรียนในลักษณะรายวิชาหรือโครงงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น