วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร

“พัฒนาหลักสูตรด้วยความเข้าใจ ใช้ทฤษฎีแนวคิดหลักการ หลักการออกแบบและประเมิน
คือ ศักยภาพของนักหลักสูตรและการสอน”

การพัฒนาหลักสูตรมีสิ่งที่จะต้องกระทำเป็นประการแรก คือการกำหนดความมุ่งหมาย ในการกำหนดความมุ่งหมายจะต้องคำนึงถึงจิตวิทยา ปรัชญา เศรษฐกิจ การเมือง  การปกครอง สังคม จริยธรรม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีซึ่งแวดล้อมตัวผู้เรียน  และข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้เรียน ข้อมูลที่ได้จากการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวจะได้นำมาใช้เป็นรากฐานในการเลือกเนื้อหาวิชา  และประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะนำเข้ามาบรรจุในหลักสูตร  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในความมุ่งหมาย
            หลักสูตรควรได้มาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ หลักสูตรควรพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและสังคม หลักสูตรควรเกิดจากความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรโดยทั่วไปประกอบด้วยพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ พื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐานด้านจิตวิทยา พื้นฐานด้านสังคมวิทยา และพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรจะต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ตามโครงสร้างของหลักสูตร รวมทั้งในบริบทของการจัดการศึกษาของไทยที่จะต้องดำเนินการตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

พื้นฐานด้านปรัชญา 
มีความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรมาก เพื่อให้การจัดการศึกษานำพาผู้เรียนไปในทิศทางเดียวกันได้  โดยมีปรัชญาเป็นเครื่องกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา แนวการจัดหลักสูตรและการสอน ผู้ที่จะพัฒนาหลักสูตร ต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อนำไปใช้อย่างสอดคล้องและเป็นแนวทางเดียวกันทุกขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตร กำหนดจุดมุ่งหมายการเลือกและจัดเนื้อหาและกิจกรรม วิธีการนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตร

พื้นฐานด้านจิตวิทยา
การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก  รวมถึงการสร้างหลักสูตรขึ้นมา  และการปรับปรุงหลักสูตรที่สร้างขึ้นมาแล้ว  ให้มีความเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และสังคม  ซึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักจิตวิทยาเข้าช่วย  เพราะจิตวิทยาเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการวางหลักสูตรรากฐานทางจิตวิทยา ดังกล่าวได้แก่ พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กนั่นเอง

พื้นฐานด้านสังคมวิทยา
วัฒนธรรมคือ วิธีแห่งการดำเนินชีวิตของคนในสังคมเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะของสังคมนั้น วัฒนธรรม  ประกอบด้วยแนวคิดขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่คนในสังคมสร้างสมขึ้นเป็นสมบัติของสังคมและสืบทอดกันต่อมา สังคมและวัฒนธรรมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ วัฒนธรรมของสังคมจะสะท้อนออกมาในรูปของหลักสูตร  สังคมต้องการให้คนมองสังคมว่ามีวัฒนธรรมอย่างไร ก็จะระบุไว้ในหลักสูตรที่จัดให้แก่สมาชิกในสังคม การพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับฐานทางเศรษฐกิจ การเตรียมกำลังคน ให้เพียงพอ พอเหมาะ และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสาขาวิชาชีพ แนวโน้มความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคมในอนาคตการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาคุณลักษณะของบุคคลในระดับเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับ

พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พัฒนาทางเทคโนโลยีได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการสอน อุปกรณ์การสอนใหม่ ๆ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ เทป วีดีโอเทป ฯลฯ  อีกทั้งวิธีการสอนแบบใหม่ซึ่งอาศัยเครื่องมือเหล่านี้ช่วยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขอบข่ายความรู้ ศักยภาพของคนในการแสวงหา ใช้ และสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม
การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง ต้องการกำลังคนและกำลังสมองจากกลุ่มคนหลายประเภท  เช่น นักวิชาการ  นักวิจัย นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษา ฯลฯ  การพัฒนาหลักสูตรที่รอบคอบจำต้องอาศัยข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบ  หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาจึงจะเป็นหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษา  ความต้องการทางสังคม  และความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเพียงพอ
การพัฒนาหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จโดยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาที่มีบริบทใกล้เคียงกันตามมิติความต้องการจำเป็นของแต่ละสถานศึกษา มีกิจกรรมร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งหมายถึงกระบวนการสร้างแผนหรือแนวทางในการจัดมวลประสบการณ์ที่จัดทำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลในระดับสถานศึกษาเพื่อใช้พัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นหลักสูตรแกนกลางที่กำหนดจากส่วนกลางที่ปรากฏในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  และส่วนที่เกี่ยวกับสภาพชุมชนและท้องถิ่นซึ่งพัฒนาโดยเขตพื้นที่การศึกษา และส่วนเพิ่มเติมที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับความสนใจ ความต้องการและความถนัดของผู้เรียนรวมทั้งความเหมาะสมกับสภาพสังคม กระบวนการใช้หลักสูตรสถานศึกษาและการประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตร ทั้งหมด 6 ประการ ด้วยกันดังต่อไปนี้
1.      ปัจจัยด้านงบประมาณ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและสังคมแห่งการเรียนรู้
2.      ปัจจัยความก้าวหน้าทางวิชาการ วัฒนธรรม ชุมชนและสังคม
3.      ปัจจัยทางการพัฒนาการด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
4.      ปัจจัยทางยุทธวิธีการจัดการเรียนรู้
5.      ปัจจัยด้านภาวะผู้นำทางวิชาการการบริหารจัดการของผู้บริหารและองค์กร
6.      ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่าย


ที่มา:    รศ.ดร. วารีรัตน์ แก้วอุไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น