วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิยาม และความสำคัญของหลักสูตร

หลักสูตรเป็นสิ่งสำคัญของการจัดการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ หลักสูตรที่ดีต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้มีเนื้อหาสาระทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง     ซึ่งมีนักการศึกษาได้อธิบาย  และให้ความหมายการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้

ความหมายของหลักสูตร

             นักการศึกษา ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้อย่างหลากหลาย    ขึ้นอยู่กับทัศนะ ความเชื่อ  แนวคิด ปรัชญาและประสบการณ์ ซึ่งสามารถประมวลความหมายของหลักสูตรที่สำคัญได้ ดังนี้
              เซยเลอร์  อเล็กซานเดอร์  และเลวิส (Sayler, Alexander and Lewis. 1981 : 8)  ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ว่า  หลักสูตร  หมายถึง  แผนการเรียนการสอนที่จัดโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่บุคคลที่ได้รับการศึกษา
            โอลิวา  (Oliva. 1992 : 8 – 9)  ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตร  โดยแบ่งเป็น
      1.            การให้นิยามโดยยึดจุดประสงค์  (Purpose)  หลักสูตร  จึงมีภาระหน้าที่ที่จะทำให้ผู้เรียนควรจะเป็นอย่างไรหรือมีลักษณะอย่างไร หลักสูตรแนวคิดนี้จึงมีความหมายในลักษณะที่เป็นวิธีการ  ที่นำไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย  เช่น  หลักสูตร  คือ  การถ่ายทอด  มรดกทางวัฒนธรรม  หลักสูตร  คือ  การพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน   เป็นต้น
     2.            การให้นิยามโดยยึดบริบทหรือสภาพแวดล้อม  (Contexts)  นิยามหลักสูตรในลักษณะนี้  เป็นการอธิบายถึงลักษณะทั่วไปของหลักสูตร  ซึ่งแล้วแต่ว่าเนื้อหาสาระของหลักสูตรมีลักษณะเป็นอย่างไร  เช่น  หลักสูตรที่ยึดเนื้อหาวิชา  หลักสูตรที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหลักสูตรเพื่อการปฏิรูปสังคม  เป็นต้น
     3.            การให้นิยามโดยยึดวิธีดำเนินการหรือยุทธศาสตร์ (Strategies) เป็นการให้นิยามหลักสูตร  ในเชิงวิธีดำเนินการที่เป็นกระบวนการ  ยุทธศาสตร์หรือเทคนิควิธีการที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน  เช่น  หลักสูตร  คือ  กระบวนการแก้ปัญหา  หลักสูตร  คือ  การทำงานกลุ่ม  หลักสูตร  คือ  การเรียนรู้รายบุคคล  หลักสูตร  คือ  โครงการหรือแผนการจัดการเรียนการสอน  เป็นต้น
             โอลิวา ได้สรุปความหมายของหลักสูตรไว้ว่า  หลักสูตร คือ  แผนงานหรือโครงการที่จัดประสบการณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้เรียนโดยแผนงานต่างๆ จะถูกกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร           มีขอบเขตกว้างขวาง  หลากหลาย  เพื่อเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต้องการ ดังนั้น หลักสูตรอาจเป็นหน่วย (Unit) เป็นรายวิชา (Course) หรือเป็นรายวิชาย่อย (Sequence of courses)    ทั้งนี้ แผนงานหรือโครงการทางการศึกษาดังกล่าว อาจจัดขึ้นได้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ภายใต้การบริหารและดำเนินงานของสถานศึกษา
             โซเวลล์  (Sowell. 1996 : 5)  ได้กล่าวว่า   มีผู้อธิบายความหมายของหลักสูตรไว้อย่างมากมาย เช่น หลักสูตรเป็นการสะสมความรู้ดั้งเดิม เป็นวิธีการคิด เป็นประสบการณ์ที่ถูกกำหนดไว้  เป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้ เป็นความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นเนื้อหาและกระบวนการ  เป็นแผนการเรียนการสอน เป็นจุดหมายปลายทางและผลลัพธ์ของการจัดการเรียนการสอนและเป็นผลผลิตของระบบเทคโนโลยี เป็นต้น  โซเวลล์  ได้อธิบายว่า  เป็นเรื่องปกติที่นิยามความหมายของหลักสูตรมีความแตกต่างกันไปเพราะบางคนให้ความหมายของหลักสูตรในระดับที่แตกต่างกันหรือไม่ได้แยกหลักสูตรกับการจัดการเรียนการสอน แต่อย่างไรก็ตาม โซเวลล์ ได้สรุปว่า หลักสูตร คือ  การสอนอะไรให้กับผู้เรียน  ซึ่งมีความหมายที่กว้างขวาง  ที่รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร ทักษะ และ ทัศนคติ  ทั้งที่ได้กำหนดไว้และไม่ได้กำหนดไว้ให้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษา
             ชมพันธุ์   กุญชร  ณ  อยุธยา  (2540 : 3 – 5)  ได้อธิบายความหมายของ หลักสูตรว่า   มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ความหมายที่แคบสุดจนถึงกว้างสุด  ซึ่งสามารถจำแนกความคิดเห็นของนักการศึกษาที่ได้ให้นิยามความหมายของหลักสูตรแบ่งออกเป็น  2  กลุ่มใหญ่ๆ  ได้ดังนี้
     1.            หลักสูตร  หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียน  นักการศึกษาที่มีความคิดเห็นว่า  หลักสูตร หมายถึง  แผนประสบการณ์การเรียนนั้น  มองหลักสูตรที่เป็นเอกสารหรือโครงการของการศึกษาที่สถาบันการศึกษาไว้วางแผนไว้  เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามแผนหรือโครงการที่กำหนดไว้  หลักสูตรตามความหมายนี้ หมายรวมถึง  แผนการเรียนหรือรายวิชาต่างๆ ที่กำหนดให้เรียนรวมทั้งเนื้อหาวิชาของรายวิชาต่างๆ กิจกรรมการเรียนการสอน และการประเมินผล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนความคิดเห็นของนักการศึกษากลุ่มนี้ ไม่รวมถึงการนำหลักสูตรไปใช้หรือการเรียนการสอนที่ปฏิบัติจริง
      2.            หลักสูตร  หมายถึง  ประสบการณ์การเรียนของผู้เรียน  ที่สถาบันการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย  จุดมุ่งหมาย  เนื้อหา  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  การประเมินผล

นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "หลักสูตร" ด้วยอักษรย่อ SOPEA  ซึ่งหมายถึง
       -                   S (Curriculum as Subjects and Subject Matter)
หลักสูตร คือ รายวิชาหรือเนื้อหาวิชาที่เรียน
       -                   C (Curriculum as Objectives)
หลักสูตร คือ จุดหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
       -                   P (Curriculum as Plans)
หลักสูตร คือ แผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์แก่นักเรียน
       -                   E (Curriculum as Learners, Experiences)
หลักสูตร คือ ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้เรียนที่จัดโดยโรงเรียน
      -                   A (Curriculum as Educational Activities)
หลักสูตร คือ กิจกรรมทางการศึกษาที่จัดให้กับนักเรียน
หลักสูตรในความหมายเดิม จะหมายถึง รายวิชาต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องเรียนส่วนความหมายใหม่ จะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดที่นักเรียนจะได้ภายใต้คำแนะนำ และความรับผิดชอบของโรงเรียน
หากจะสรุปความหมายของหลักสูตรจากนักการศึกษาหลายท่านพอจะสรุปได้ดังนี้
      1.            หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
      2.            หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
      3.            หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่นักเรียน
      4.            หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
      5.            หลักสูตรในฐานะที่มวลประสบการณ์
      6.            หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
      7.            หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
             หลักสูตรถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาทุกระดับ หลักสูตรระบุสิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนและแนวทางจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ หลักสูตรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน ส่วนการสอนเป็นกระบวนการหรือวิธีการ หลักสูตรจะระบุสิ่งที่จะสอนในโรงเรียนระบุสิ่งที่ผู้เรียนควรจะเรียนรู้ (เนื้อหา)
             จากแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่านดังกล่าวพบว่า    มีการให้นิยามแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีเกณฑ์ที่ใช้ในการอธิบายแตกต่างกัน  ในการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า  หลักสูตร หมายถึง  แนวการจัดประสบการณ์ และ/หรือ เอกสาร ที่มีการจัดทำเป็นแผนการจัดสภาพการเรียนรู้หรือโครงการจัดการศึกษา โดยมีการกำหนดวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้ตามจุดประสงค์หรือจุดมุ่งหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้
   
ความสำคัญของหลักสูตร

             ความสำคัญของหลักสูตรที่มีต่อการจัดการศึกษานั้น  นักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวตรงกันว่า หลักสูตรมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษา   ทั้งนี้  ธำรง  บัวศรี  (2532 : 6 - 7) ได้กล่าวว่า หลักสูตรมีความสำคัญ เพราะหลักสูตรเป็นส่วนกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยมีรายละเอียดที่บ่งชี้ว่า ผู้เรียนควรเรียนรู้อะไร มีเนื้อหาสาระมากน้อยเพียงไร  ควรได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะในด้านใด และควรมีพัฒนาการทั้งในส่วนของร่างกาย  จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างไร
นอกจากนี้ สุมิตร  คุณานุกร (2536 : 199 -200)  กล่าวถึง ความสำคัญของหลักสูตรว่าหลักสูตรมีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องชี้นำทางหรือเป็นบทบัญญัติของรัฐในการจัดการศึกษา  เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานำไปปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานทางการศึกษา และควบคุมการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา
นอกจากนี้ ปฎล  นันทวงศ์ และไพโรจน์  ด้วงวิเศษ (2543 : 9)  สรุปความสำคัญของหลักสูตรว่า หลักสูตรมีความสำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกฝ่ายต้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีประสิทธิภาพตามที่พึงประสงค์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
จากความสำคัญของหลักสูตรข้างต้น สรุปว่า หลักสูตรมีความสำคัญ เพราะหลักสูตรเป็นเอกสารซึ่งเป็นแผนการหรือโครงการจัดการศึกษาที่ระบุแนวทางการจัดมวลประสบการณ์   เป็นส่วนกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานำไปปฏิบัติ  เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพทางการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาที่หลักสูตรกำหนดไว้

องค์ประกอบของหลักสูตร
ในการพัฒนาหลักสูตรต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของหลักสูตร  ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ  ที่มีความสอดคล้อง และมีความสัมพันธ์กัน โดย เคอร์ (Kerr. 1976 : 16 - 17)   ได้นำเสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้  4  ส่วน  ได้แก่  1) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร  2) เนื้อหาสาระ  3) ประสบการณ์การเรียน และ 4) การประเมินผล   ซึ่งสอดคล้องกับ ทาบา (Taba. 1962 : 10)  ที่ได้เสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้ว่า หลักสูตรไม่ว่าจะสร้างขึ้นในลักษณะใด  ย่อมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ 1) จุดมุ่งหมาย  2) เนื้อหาสาระ 3) กิจกรรมและรูปแบบการเรียนการสอน และ 4)  การประเมินผล
จากการศึกษาองค์ประกอบของหลักสูตร ตามที่นักการศึกษาได้กำหนดไว้  สรุปได้ว่า นักการศึกษาได้นำเสนอองค์ประกอบของหลักสูตรไว้มีความสอดคล้องกัน โดยองค์ประกอบของหลักสูตรที่สำคัญมี  4  ส่วน คือ        
1.            จุดมุ่งหมายของหลักสูตร  
      2.            เนื้อหาสาระ                                
      3.            กระบวนการจัดการเรียนรู้         
      4.            การประเมินผล

แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร

             นักการศึกษาหลายท่าน ได้อธิบายความหมายของการพัฒนาหลักสูตร ไว้คล้ายคลึงกัซึ่งสรุปได้ว่า  การพัฒนาหลักสูตรมีความหมายใน  2  ลักษณะ คือ   ลักษณะที่ 1  เป็นการทำหลักสูตร  ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และลักษณะที่ 2  เป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน  (Sowell. 1996 : 16)
             จากความหมายดังกล่าว  พบว่า  การพัฒนาหลักสูตรนั้น มีความหมายที่ครอบคลุมในหลายมิติตั้งแต่ การวางแผนหลักสูตร จัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร (Curriculum planning) การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ (Curriculum  implementation)และการประเมินผลหลักสูตร (Curriculum evaluation) การพัฒนาหลักสูตรให้ดีและมีคุณภาพนั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในแต่ละมิติว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ รายละเอียดของมิติในการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้
             การวางแผนจัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร   ประกอบด้วย    การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  การกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้  การกำหนดการวัดและประเมินผล  การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ  ประกอบด้วย  การจัด  ทำรายละเอียดของหลักสูตร เพื่อให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถใช้หลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ   การผลิตและการใช้สื่อการเรียนการสอน  การเตรียมบุคลากร  การบริหารหลักสูตรและการสอนตามหลักสูตร  การประเมินผลหลักสูตร ประกอบด้วย  การประเมินเอกสารหลักสูตร  การประเมินการใช้หลักสูตร  การประเมินสัมฤทธิผลของหลักสูตร  และการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ  โอลีวา (Oliva. 1992 : 14 – 15)
          จากแนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร พบว่า การพัฒนาหลักสูตรเป็นการทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นหรือเป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน เป็นกระบวนการที่เป็นระบบเชื่อมโยงกันในมิติต่างๆ ได้แก่  การวางแผนจัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตร

เอกสารอ้างอิง

ชมพันธุ์   กุญชร  ณ  อยุธยา.  การพัฒนาหลักสูตร.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ข่าวทหารอากาศ, 2540.
ธำรง  บัวศรี. ทฤษฎีหลักสูตร : การออกแบบและการพัฒนา. กรุงเทพฯ : เอราวัณการพิมพ์, 2532.
ปฎล  นันทวงศ์ และ ไพโรจน์  ด้วงวิเศษ.  หลักสูตรและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  สงขลา : สถาบัน   ราชภัฏสงขลา, 2543.
รุจิร์  ภู่สาระ. การพัฒนาหลักสูตร : ตามแนวปฏิรูปการศึกษา.  กรุงเทพฯ : บุ๊ค พอยท์, 2545.
สุมิตร  คุณานุกร. หลักสูตรและการสอน. กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.
Beane , James A , Toepler , Jr. Conrad F. and Alessi , Jr. Samuel J. Curriculum Planning and
          Development. Massachusette : Allyn and Bacon , 1986.
Kerr . Joseph and Keneth. “Metting the Changing Need of Adoults Through Education
            Programes and Services,”  Dissertation Adstracts Interrational. 36  (10) : 6424 – A. April 1976.
Oliva , Peter F. Developing The Curriculum 3 rd ed. New York : Harper Collins Publishers, 1992.
Saylor , J.Galen , Alexander , William M. and Lewis , Arthur J. Curriculum Planing for Better
          Teaching and Learning. New York : Holt Rinehart and Winston, 1981.
Sowell , Evelys , J. Curriculum An Integrative Introduction. New Jersey : Prentice Hall , 1996.

Taba , Hilda . Curriculum Development : Theory and Practice . New York : Harcourt Brace  and   World, 1962.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น