วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอน หลักการ และข้อพึงระลึกในการประเมินผลหลักสูตร

ขั้นตอนของการประเมินผลหลักสูตร

      เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Planning Curriculum  for Modern  School  ว่า การประเมินผลหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ มาประกอบการประเมินผลหลักสูตร  ขั้นตอนการประเมินผลหลักสูตรมี  5  ประการ คือ
  1.  ประเมินผลจุดมุ่งหมายในระดับต่างๆ ได้แก่ จุดมุ่งหมายทั่วไปของหลักสูตร  จุดมุ่งหมายเฉพาะวิชา  จุดมุ่งหมายในการสอน  เพื่อดูว่าจุดมุ่งหมายเหล่านี้เหมาะสมสอดคล้องกับตัวผู้เรียนและสภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพียงใด  ภาษาที่ใช้ยุ่งยากแก่การสื่อสาร  และการกำหนดจุดมุ่งหมายไว้สูงเกินไปยากแก่การปฏิบัติหรือไม่
  2. ประเมินผลโครงการการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด  ทั้งนี้เป็นการประเมินผลโครงการต่างๆ ที่จะช่วยให้หลักสูตรบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เช่น  การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรใหม่  การดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียน  การจัดสรรงบประมาณ  การแนะแนว  ห้องสมุด  โรงฝึกงาน  การดำเนินงานของโครงการต่างๆ ได้กระทำไปมากน้อยแค่ไหน  และโครงการที่ได้กระทำไปมีประสิทธิภาพหรือไม่
  3. ประเมินผลการเลือกเนื้อหาสาระของวิชา  การเลือกและการจัดประสบการณ์การเรียนและสื่อการเรียนว่าได้จัดและดำเนินไปเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และการจัดประสบการณ์การเรียนได้สัดส่วนกับครบทุกด้านและมีความเหมาะสมหรือไม่
  4. ประเมินผลการสอน  การประเมินผลขั้นนี้  ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการนำหลักสูตรมาปรับใช้ในห้องเรียน  การประเมินผลระดับนี้  ถ้าเพื่อดูว่าการสอนของครูดำเนินไปโดยยึดถือหลักสูตรเป็นหลักหรือไม่  การสอนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนไปตามจุดหมายของหลักสูตรหรือไม่  เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนก็คือ  ความสำเร็จในการสอนของครูเพื่อดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายของหลักสูตร
  5. ประเมินผลโครงการของหลักสูตร  ถึงแม้ว่าการประเมินผลแต่ละโครงการได้วางแผนและขั้นตอนของการประเมินผลไว้อย่างดีแล้วก็ตาม  แต่การดำเนินงานอาจมีข้อผิดพลาดได้  ซึ่งจะเป็นผลทำให้การประเมินผลเพื่อสรุปผลของหลักสูตรผิดพลาดไปได้  ฉะนั้นจึงต้องมีการประเมินผลโครงการเพื่อตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

หลักในการประเมินผลหลักสูตร
  1. ต้องปฏิบัติสืบเนื่องสม่ำเสมอตลอดเวลา
  2. ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า  จะประเมินอะไรให้แน่นอน
  3. การหาข้อมูล เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผลหลักสูตร
  4. ควรพิจารณาข้อมูลที่จะนำมากำหนดเกณฑ์หรือกำหนดเครื่องมือในการประเมินผลอย่างรอบคอบ
  5. การวิเคราะห์ผลการประเมิน ต้องทำอย่างระมัดระวัง  โดยให้มีความเที่ยงตรงเพียงพอ เพื่อนำผลวิเคราะห์เสนอกรรมการพิจารณา
  6. ควรพิจารณาผลการประเมินผลหลักสูตรนี้  เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้เหมาะสมต่อไป

แนวทางการประเมินผลมีอะไรบ้าง

แนวทางของการประเมินผล มีประเด็นที่น่าศึกษาอยู่   10  ประเด็นด้วยกัน และเราจะต้องใช้วิธีการประเมินต่างๆ กันไปแต่ละประเด็น  ประเด็นทั้ง  10  ที่ต้องศึกษา คือ
  1. จุดหมาย  หลักการ  ของหลักสูตร  คือดูว่าหลักการที่บัญญัติไว้เวลานำไปสู่ภาคปฏิบัติเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด  เช่น  หลักการเกี่ยวกับการถ่ายโอนผลการเรียน  หลักการให้เด็กเลือกเรียนวิชาเลือกตามอัธยาศัย  หลักการจัดโครงการเรียนให้มีวิชาเลือกหลายวิชา         สิ่งเหล่านี้ต้องนำจุดหมายและหลักการมาเป็นแม่บท  และดูว่าโรงเรียนทำอะไรบ้าง  ทำได้ตามนี้หรือไม่
  2. โครงสร้างของหลักสูตร  คือดูว่าโครงสร้างของหลักสูตรที่กำหนดไปนั้นเมื่อแตกออกไปเป็นโครงการเรียนในการปฏิบัตินั้นสอดคล้องกันดีหรือไม่  การจัดโครงการเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องประเมินให้ถี่ถ้วนว่าโรงเรียนมีวิธีการอย่างไร  จัดด้วยเหตุผลอะไร  จัดได้สอดคล้องกับความคาดหวังของหลักสูตรหรือไม่  กุญแจที่สำคัญของการประเมินผลหลักสูตรอยู่ที่ว่า  โรงเรียนจัดอย่างไร  ด้วยเหตุผลอะไร  ทำไมจึงจัดได้  ทำไมจึงจัดไม่ได้  มีปัจจัยอะไรส่งผลให้เป็นเช่นนี้
  3. สาระสำคัญ  และเนื้อหาตามหลักสูตรที่ถ่ายทอดรายละเอียดเป็นสื่อการเรียน  รายวิชาต่างๆ ที่กำหนดไปแล้วนั้นเหมาะกับวัยของเด็กเพียงไร  ครูมีพื้นฐานความรู้ที่จะสอนได้ตามนั้นหรือไม่  หลายวิชาหลักสูตรอาจเขียนไว้ค่อนข้างหรู  แต่หาคนสอนไม่ได้  มันก็หยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร  แต่เป็นความไม่พร้อมหลายๆ อย่างด้วยกัน เช่น ระบบการผลิตครู เนื้อหาสาระของหลักสูตรที่กำหนดเป็นรายวิชาต่างๆ ผู้ประเมินผลจะต้องใช้เวลามาก และต้องการความสัดทัดเฉพาะบุคคล
  4. วิธีสอนวิธีเรียน  เรื่องนี้แม้จะเป็นหน้าที่โดยตรงของระบบโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และกรมเจ้าสังกัด  แต่ก็สัมพันธ์กับหลักสูตรในแง่ที่ว่า  หลักสูตรใหม่แต่สอนวิธีเก่าก็ไม่มีความหมายอะไร  ตัวอย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์  เป็นเรื่องที่คนเข้าถึงเหตุเข้าถึงผล  ไม่ให้เชื่ออะไรที่เลือนราง  การที่จะเข้าถึงสิ่งนั้นได้ต้องจับต้อง  ต้องพิสูจน์กันอย่างจริงจัง แต่ปรากฏว่าโรงเรียนหลายแห่งบอกว่ายากยังไม่พร้อม หรือสู้การสอนแบบท่องจำไม่ได้  ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วทัศนคติทางวิทยาศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น 
  5. ระบบงานวิชาการของโรงเรียน ต้องดูว่าการวางโปรแกรมให้นักเรียนนั้นใครเป็นผู้วางรวมถึงการบันทึกวิชาการต่างๆ ลงไปในระเบียนของเด็ก  รายวิชาที่จัดนั้นผสมผสานกันดีไหม หรือไม่ประสานกันเลย  ระบบงานวิชาการเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้คณะครูที่สอนตามสายต่างๆ ทำงานประสานกันดี
  6. ครูอาจารย์ที่สอนตามหลักสูตรใหม่ได้หรือไม่  วิชาดนตรียังขาดครูสอน  วิชาชีพก็เช่นเดียวกัน  จึงไม่สามารถเปิดสอนได้
  7. สื่อการเรียน  หนังสือเรียน  คู่มือ  หนังสืออ่านประกอบ  หนังสืออ้างอิงมีหรือไม่  มีแล้วแต่ยังผิดพลาดหรือไม่  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องสำรวจและพิจารณา
  8. การวัดผลทั้งหมดรวมทั้งการจัดระบบวัดผล  ต้องพิจารณาในเรื่องวัดผลนั้นว่าโรงเรียนทำถูกหรือผิดประการใด  โดยเอาระเบียบเป็นตัวยืนยันว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เมื่อระเบียบไม่เหมาะสมควรเอามาแก้ไขเปลี่ยนแปลง
  9. การจัดกิจกรรมในโรงเรียน  กิจกรรมเป็นส่วนสำคัญของระบบหลักสูตรเหมือนกัน ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเนื้อหาวิชา แต่มีระเบียบกิจกรรม เช่น จะต้องเรียนลูกเสือ  โรงเรียนได้ทำกิจกรรมเหล่านี้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นหรือไม่  โรงเรียนจัดแนะแนวในลักษณะใด  สอดคล้องกับความจำเป็นหรือไม่
  10. แหล่งวิทยาการ  สถานประกอบการ  โรงเรียนเข้าใจเรื่องนี้จริงหรือไม่  เห็นทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด  เรื่องนี้ทางกระทรวงได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบแล้วได้เผยแพร่ให้โรงเรียนเข้าใจสาระสำคัญหรือไม่

ข้อพึงระลึกในการประเมินผลหลักสูตร
  1. การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนดลงไปอย่างชัดเจนว่าจะประเมินอะไรให้แน่นอน
  2. การหาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  สำหรับการประเมินผลหลักสูตร
  3. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดเกณฑ์และกำหนดเครื่องมือในการประเมินจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
  4. การวิเคราะห์ผลการประเมินจะต้องกระทำอย่างระมัดระวังและมีความเที่ยงตรง  เพื่อที่จะนำผลการวิเคราะห์นั้นไปเสนอคณะกรรมการพิจารณา
  5. พิจารณาจากการประเมินผลหลักสูตร  เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เหมาะสมต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น